(กรณีศึกษานี้ผมเขียนลงในนิตยสาน KoiMax ฉบับปฐมฤกษ์ครับ)
ปลา Showa Sanshoku 2ตัวนี้เป็นปลา Dainichi Showa ที่ผมซื้อมาพร้อมกัน เป็นพี่น้องในครอกเดียวกันครับ และผมนำมาเลี้ยงอยู่ในบ่อเดียวกัน กินอาหารเหมือนกันตลอด และตักมาถ่ายภาพเก็บพัฒนาการของมันในวันเวลาเดียวกันครับ ผมขอชี้แจ้งในเบื้องต้นอย่างนี้นะครับ ปลา 2 ตัวนี้มีความแตกต่างกันแทบจะในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพสีแดง สีดำ สีขาว และเพศของตัวปลา แต่ก็เป็นปลาที่ผมชอบและเห็นว่าน่าเลี้ยงด้วยกันทั้งคู่ครับ เรามาดูกันนะครับว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรจากกรณีศึกษานี้กันบ้างครับ
( ภาพที่ 1 ถ่ายเมื่อ 19-6-2553 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 31cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด32cm เป็นปลาเพศผู้ )
จากภาพที่1 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 31cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด32cm เป็นปลาเพศผู้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าปลาตัวเมียมีสีขาวที่ดีกว่าปลาตัวผู้อย่างชัดเจน สังเกตได้จากสีเหลืองบริเวณกะโหลกปลาของปลาตัวผู้ แต่ปลาตัวผู้เองก็มีดีเช่นกันครับเพราะมันมีสีแดงที่ดีมากๆทั้งหนาและสว่างสวยงามกว่า ทั้งๆที่ปลาตัวเมียเองดูเหมือนจะมีสีแดงที่ดีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีสีแดงที่หนาเท่ากับปลาเพศผู้ตัวนี้นะครับ(รอดูต่อไปจะเห็นความแตกต่างนี้ชัดขึ้นครับ) ส่วนเรื่องของคุณภาพสีดำนั้นผมถือว่าปลา 2 ตัวนี้มีฐานของสีดำที่ดีทั้งคู่ครับ ไม่น้อยหน้ากันเลยที่เดียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความแตกต่างอะไรกันเลยครับ ตอนนี้ผมบอกได้แค่ว่าสีดำของปลา 2 ตัวนี้เลี้ยงสนุกมากครับ ในการจับคู่เลี้ยงชนกันแบบนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้ครับ นั่นคือ เรื่องของเพศปลา เขาว่ากันว่าปลาเพศเมียจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่มากกว่าปลาเพศผู้ ซึ่งประเด็นนี้เราจะมาดูกันด้วยว่าจะเป็นจริงในกรณีของปลา 2 ตัวนี้ไหมครับ
( ภาพที่ 2 ถ่ายเมื่อ 1-8-2553 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 43cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด44cm เป็นปลาเพศผู้ )
หลังจากผ่านการเลี้ยงดูในบ่อได้ 45 วัน(19-6-2553 ถึงวันที่ 1-8-2553) ผมได้ตักปลาทั้ง 2 ตัวขึ้นมาถ่ายรูปเก็บภาพพัฒนาการของมัน ครั้งนี้ผมพบว่าปลาทั้ง 2 ตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จากเดิมที่ปลาเพศเมียมีขนาด 31cm ก็กลายเป็น 43cm ส่วนปลาเพศผู้ก็โตจากเดิม 32cm กลายมาเป็น 44cm จัดว่าทั้ง 2 ตัวมีอัตราการโตที่เท่ากัน คิอ 12cm ครับ ต่อไปเรามาดูเรื่องสีแดงของปลาทั้ง 2 ตัวกันบ้างครับ ปลาเพศเมียมีสีแดงที่อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัดครับ แต่ก็ยังจัดอยู่ในระดับที่แก้ไขได้ครับ มันเป็นเรื่องปกติของปลาที่เจริญเติบโตเร็วทั่วไปๆครับ แต่ปลาเพศผู้นี่สิครับถึงแม้ว่ามันจะโตเร็วในอัตราที่เท่ากัน แต่สีแดงของมันก็ยังสมารถคงความสม่ำเสมอเอาไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเกินจริงแต่อย่างใด ด้วยเพราะปลาตัวนี้มีชั้นสีแดงที่หนามากอยู่แล้วครับ เป็นแต้มต่อที่ได้เปรียบของปลาตัวผู้จริงๆครับ ต่อมาเรามาดูสีดำของปลาทั้ง 2 ตัวกันบ้างครับ สีดำของมันทั้ง2ตัว แสดงให้เห็นถึงฐานดำที่ดีทั้งคู่ครับแต่ยังไม่มีใครพัฒนาออกมามากกว่าใคร เราก็จะตามดูกันต่อไปว่าสีดำของใครจะพัฒนาได้เร็วกว่ากันครับ สุดท้ายเรื่องของสีขาวเราจะเห็นได้ว่าสีขาวของปลาเพศผู้มีสีขาวอมเหลืองอย่างชัดเจนขึ้นครับ ทั้งนี้เพราะผมให้อาหารเร่งสีไปด้วยครับ ปลาเพศผู้จะมีความไวกับอาหารเร่งสีมากกว่าปลาเพศเมียเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านไปอะไรๆก็จะชัดเจนขึ้นครับ มาดูภาพถัดไปกันครับ
( ภาพที่ 3 ถ่ายเมื่อ 23-10-2553 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 49cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด48cm เป็นปลาเพศผู้ )
3 เดือนผ่านไป อัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงและภาพรวมของตัวปลาที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากครั้งที่แล้ว สีแดงของปลาเพศผู้ก็ยังคงความสม่ำเสมอเอาไว้ได้อย่างดี ส่วนสีแดงของปลาเพศเมียนั้นดูจะมีความสม่ำเสมอดีขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตที่ชะลอตัวลง ด้านสีดำของปลาทั้ง 2 ตัวคงที่ไม่มีการพัฒนาอะไรที่ชัดเจน นอกจากเรื่องของผิวพรรณที่แตกต่างกันระหว่างปลาทั้ง 2 ตัวที่เห็นได้ชัดเจนครับ ซึ่งปลาเพศผู้จะดูมีผิวที่อมเหลืองแถมยังให้ความรู้สึกด้านกว่าผิวพรรณของปลาเพศเมียครับ
( ภาพที่ 4 ถ่ายเมื่อ 10-12-2553 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 53cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด52cm เป็นปลาเพศผู้ )
และแล้วเวลาก็ผ่านไปอีก 2 เดือน มาคราวนี้ปลาเข้าไซด์ 5 กันแล้วครับ มีความแตกต่างให้เห็นกันแล้วครับ ที่เห็นกันได้ชัดเลยก็ คือ สีดำและสีแดงของปลา กล่าวคือ สีแดงของปลาเพศเมียเริ่มกลับมามีความสม่ำเสมอที่ดีขึ้น แต่เจ้าปลาเพศผู้ก็ไม่น้อยหน้าครับ ยังคงความสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้อย่างไม่มีตกเลยทีเดียว ส่วนสีดำของปลาเพศเมียก็เริ่มพัฒนาขึ้นมาแล้วครับสีดำวิ่งขึ้นผ่าหน้าอย่างสวยงาม แถมสีดำที่ขึ้นมามีความมันเงาและเข้มข้น จัดว่าเป็นดำที่มีคุณภาพดีเลยที่เดียวครับ ส่วนปลาเพศผู้สีดำของมันนิ่งสนิทไม่มีการพัฒนาแต่อย่างใดเลย สงสัยคงต้องรอต่อไป...
( ภาพที่ 5 ถ่ายเมื่อ 10-4-2554 ปลาตัวซ้ายมือขนาด 59cm เป็นปลาเพศเมีย ส่วนปลาตัวขวามือขนาด 60cm เป็นปลาเพศผู้ )
วันเวลาช่างผ่านไปไวเหมือนโกหกมาบัดนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เลี้ยงมา10เดือนกว่าผมขอสรุปดังนี้ครับ
1) ปลาเพศเมียมีสีดำที่พัฒนาขึ้นมาจนเรียกได้ว่าเกือบจะ100% เลยที่เดียวเหลือเพียงแค่รอเวลาให้มันอัดตัวกันแน่นจนเสมอทั้งตัวเท่านั้น ในขณะที่ปลาเพศผู้สีดำไม่มีขยับขึ้นมาเลยซักนิดเดียวมันช่างเป็นเรื่องที่แปลกดีนะครับ ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าลักษณะดำที่ต่างกัน มีผลกับระยะเวลาในการขึ้นมาของสีดำด้วย เพื่อนๆชมกรณีศึกษานี้แล้วชอบดำแบบไหน ก็เอาไปเป็นแบบอย่างในการเลือกสีดำในปลา Showa Sanshoku มาเลี้ยงกันตามแบบที่ชอบ หรือตามลักษณะดำที่ใช่สำหรับตนเองนะครับ
2) ปลาเพศผู้มีสีแดงที่สม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มต้นจนวันสุดท้าย นับว่าน่าประทับใจมากครับ ส่วนปลาเพศเมียถึงแม้จะมีช่วงที่สีแดงตกลงไปบ้างจากอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว แต่ก็สมารถกลับมาสม่ำเสมอได้ในภายหลัง จุดนี้เพื่อนๆสามารถนำเอาไปปรับใช้กับการเลือกปลาและเลี้ยงปลาของตนเองได้ครับ บางครั้งเราอาจจะตัดสินใจเอาปลาตัวที่สีแดงอ่อนออกจากบ่อ โดยที่เราอาจจะลืมนึกไปว่าเมื่อมันกลับมามีสีแดงที่ควบแน่นแล้วอาจจะสวยขึ้นจนทำให้เราเสียดายก็เป็นได้ครับ
3) พัฒนาการของสีขาวของปลาทั้ง 2 ตัว จากภาพทั้ง 5 ภาพจะเห็นได้ว่า ปลาเพศเมียมีสีขาวที่ได้เปรียบกว่าปลาเพศผู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่ปฎิเสธกันไม่ได้ครับ ปลาเพศเมียจึงมีผิวพรรณที่ขาวสะอาดกว่าปลาเพศผู้ตามภาพที่เห็นกันครับ ดังนั้น นักเลี้ยงส่วนมากจึงนิยมหาปลาเพศเมียมาเลี้ยงกัน
4) จากภาพที่ถ่ายเก็บพัฒนาการของปลาทั้ง 2 ตัว จะเห็นได้ว่ายิ่งปลาโตมากขึ้นเท่าไหร่ รูปร่างของปลาเพศเมียมีความอวบอิ่มเต็มตลอดตัวมากกว่าปลาเพศผู้ นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปลาเพศเมียเป็นที่นิยมมากกว่าปลาเพศผู้ครับ
สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆจะได้มุมมองอะไรไปใช้ในการเลือกปลา Showa Sanshoku ของตนเองในครั้งต่อไปนะครับ และผมจะหากรณีศึกษาแบบนี้มาให้เพื่อนดูกันอีกในครั้งต่อๆไปนะครับ
No comments:
Post a Comment