Omosako Koi Farm Episode 1 : The legend of black and white

Omosako Koi Farm episode 1 : The legend of black and white


ไม่ว่าจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือต่างประเทศก็ดูเหมือนว่าจะมีชื่อๆหนึ่งที่มีความหมายเดียวกันกับคำว่า” Shiro utsuri” ฟาร์ม Omosako มีเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับปลาสายพันธุ์นี้ และเป็นมากยิ่งกว่ากับคำกล่าวขานถึงเขาว่าเป็น ” ผู้สร้าง(maker) ” หรืออีกนัยหนึ่ง คือบุคคลที่ทุกคนจับตามองในความสามารถเฉพาะของเขา และเป็นสถานที่ๆไปเพื่อหาพ่อและแม่พันธุ์ปลา ครั้งนี้เราสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขามากขึ้นและจะถามเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ในฐานะที่พวกเขาเป็นเสาหลักสำคัญในปลาสาย” Shiro utsuri” รวมถึงเรื่องอะไรก็ตามที่สืบทอดกันภายในครอบครัว  มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยที่จะสร้างชื่อให้ตัวเองกับปลาสายพันธุ์ใดๆก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาที่ไม่ใช่ปลาสายหลัก( โคฮากุ ซันเก้ โชว่า ) ด้วยแล้ว แต่ก็แปลกอย่างยิ่งที่ชายคนนี้สามารถทำได้ คุณอาจจะรู้อยู่แล้วว่าเขาโด่งดังในเรื่องใด ดังนั้นเรามาดูกันว่าเขาทำอย่างไรและทำเพราะอะไรดีกว่าครับ


คำถาม – ผมเข้าใจว่าคุณได้รับมรดกธุรกิจนี้มาจากพ่อของคุณ ไม่ทราบว่าคุณพอจะบอกได้ไหมว่าเมื่อใดที่คุณเริ่มลงมือเพาะปลาด้วยตัวคุณเองจริงๆครับ

Omosako – ผมเริ่มลงมือตั้งแต่ปี 1975 ก็ประมาณ 27 ปีที่แล้ว

คำถาม – ไม่ทราบว่าคุณพ่อเข้ามาในธุรกิจการเพาะปลาคราฟได้อย่างไรครับ

Omosako – ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันขณะที่เราอยู่ที่เมือง Kure เราขับรถผ่านร้านขายปลาเล็กๆซึ่งพ่อเคยทำกิจการขายปลาคราฟที่นั่น และก่อนหน้านั้นอีกพ่อก็เคยเปิดบูธ”kingyo sukui”ตามงานเทศกาลต่างๆ (”kingyo sukui” คือ เกมที่ต้องใช้ความสามารถในการตักปลาทองด้วยกระชอนที่ทำด้วยเยื่อกระดาษอันเล็กๆ เป็นเกมที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และแน่นอนมันไม่ง่ายหรอกนะที่จะชนะเพราะกระชอนกระดาษมันชั่งขาดง่ายเสียนี่กระไร)

คำถาม – ถ้าอย่างนั้นเขาก็เริ่มมาด้วยปลาทองใช่ไหมครับ

Omosako –ใช่ครับ พ่อเริ่มด้วยปลาทองครับหลังจากนั้นก็เริ่มเก็บสะสมปลาคราฟและเริ่มศึกษาจากตรงจุดนั้น สุดท้ายพ่อก็ซื้อซื้อที่ดินและเปิดร้านปลาเล็กๆร้านนั้นพร้อมกับสร้างบ่อปลาที่นั่น (ก่อนหน้านั้นพ่อเช่าที่ดินและทำบ่อปลาอยู่ก่อนแล้ว) ที่ดินที่ร้านตั้งอยู่นั้นซื้อเมื่อปี 1967และเราสร้างทั้งบ้านและบ่อปลาที่นั่น ผมมักจะมองดูปลาคราฟของพ่อและผมก็เริ่มชอบมัน หลังจากผมออกจากโรงเรียนการทำงานในร้านปลาเล็กๆกับพ่อดูไม่ค่อยมีอนาคตนัก ดังนั้นผมได้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของฟาร์มเราในปัจจุบันและเริ่มสร้างบ่อปลาของตัวเองขึ้นมาซึ่งเป็นจุดที่ผมเริ่มอาชีพการเป็นผู้เพาะพันธุ์ปลาคราฟครับ

คำถาม – ปลาที่พ่อของคุณเก็บสะสมเป็นปลาจากไหนครับ

Omosako – คงเหมือนที่คุณคาดไว้ ก็เป็นปลาจากทาง Hiroshima ในช่วงแรกๆซึ่งส่วนมากก็จากผู้เพาะพันธุ์ใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นพ่อก็เริ่มขึ้นไปทางแถบ Niigata พ่อเป็นหนึ่งในดีลเลอร์รุ่นเก่าที่สะสมปลาจากทางแถบ Niigata ผมจำได้ว่าอยู่ในช่วงประมาณปี 1950 ถึงปี 1960

คำถาม – งั้นก็หมายความว่าพ่อของคุณเริ่มจากการเป็นพ่อค้าปลาแล้วผันตัวเองมาเป็นผู้เพาะพันธุ์ปลาใช่หรือไม่

Omosako – ใช่ครับ แต่ไม่ใช่ผู้เพาะพันธุ์แบบจริงๆจังๆนะครับ เป็นทำนองที่ว่าเราขายปลาที่เราเพาะได้ควบคู่ไปกับปลาอื่นที่ซื้อมาครับ ที่สำคัญจริงๆคือปลาที่เราโตไซที่เราได้จากเพื่อนที่เป็นผู้เพาะพันธุ์ซึ่งเรานำมาขายให้กับนักเลี้ยงปลาทั่วไปครับ

คำถาม – ชื่อของ Omosako เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นปลาชิโร่อุจิริที่มีคุณภาพสูงมาหลายๆปีจนปัจจุบัน ผมจึงอยากทราบว่าเมื่อไรที่คุณเริ่มเพาะพันธุ์ปลาสายนี้ และอะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจทำอย่างนั้นครับ

Omosako – ครั้งแรกที่ผมใช้แม่พันธุ์ปลาของผมเพาะปลาเป็นปี 1980 หนึ่งในลูกค้าของผมมีปลาชิโร่อุจิริที่เพาะโดยฟาร์มซาไกแห่งฮิโรชิม่าซึ่งผมรับหน้าที่ขนส่งปลาตัวนั้นไปงานประกวด”Chugoku Taikai" และปลาตัวนั้นก็ได้ Grand Champion ด้วยและนั่นทำให้ผมสนใจปลาสายพันธุ์นี้ มันไม่ธรรมดาเลยที่ปลาชิโร่อุจิริจะชนะรางวัล Grand Champion จึงไม่แปลกที่ผมจะถูกสั่นคลอนและถูกดึงดูดให้สนใจไปกับปลาตัวนี้

คำถาม – ดังนั้นคุณก็ถูกสั่นคลอนด้วยความจริงที่ว่าปลาที่ไม่ใช่ปลาหลักก็สามารถชนะรางวัล Grand Champion ในงานใหญ่ประจำท้องถิ่นได้เช่นกันใช่ไหมครับ

Omosako – ใช่จริงๆนะแหละครับ และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผม ตอนนั้นสิ่งสำคัญลำดับแรกคือต้องหาพ่อแม่พันธุ์ปลาซึ่งผมพยายามเพาะปลาชิโร่อุจิริในปี 1977 และเริ่มหาพี่น้องของปลาที่ได้รับรางวัลในงาน”Chugoku Taikai"เพื่อนำมาเป็นแม่พันธุ์ปลา ผมทดลองเพาะปลาตลอดจนถึงปี 1979 ก็ยังดูเหมือนว่าผมโชคไม่ดีเลย จนมาปี 1980 ผมยืมแม่ปลามาเพาะและครั้งนี้ผมก็ประสบความสำเร็จแต่ก็น่าเสียดายผมเสียลูกปลาโตไซไปจำนวนมาก ดังนั้นในปีต่อมาผมตัดสินใจซื้อแม่ปลามาเลยและนั่นก็เป็นจุดที่ผมเพาะปลาชิโร่อุจิริอย่างจริงจัง

( ขยายความ – เจ้าของเดิมของแม่ปลาเป็นเพื่อนคนหนึ่งชื่อ Mr. Sogawa อาศัยอยู่ที่เมือง Hiroshima ปลาชิโร่อุจิริของเขาชนะรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รุ่น 5 bu ของงาน14th ZNA All Japan show  และปลาได้เปลี่ยนมือมาอยู่กับ Mr.Naito และปลาตัวนี้ก็ถูกส่งเข้าประกวดในงาน Shikokai All Japan และได้รับรางวัล Young Champion ในงานดังกล่าว )

คำถาม – หมายความว่าแม่ปลาตัวนี้ในตอนแรกคุณใช้วิธียืมมาเพาะพันธุ์ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยจัดการซื้อมาเป็นของตัวเองในปีถัดมา ถูกไหมครับ

Omosako – ถูกต้องครับ มันเป้นการให้ยืมในปี 1980 และในปี 1981 ผมก็ซื้อมาเพื่อเพาะพันธุ์โดยเฉพาะครับ ผมค่อนข้างพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ในการเพาะครั้งแรก เมื่อเห็นโตไซที่ได้มีความสวยงามมากและนั่นก็เป็นเหตุผลให้ผมตัดสินใจซื้อมันมาครับ

คำถาม – คุณใช้แม่พันธุ์ตัวนี้เพาะปลาอยู่นานเท่าไรครับ

Omosako – อืม…จากปี 1980 ถึงปี 1990ครับ ก็ประมาณ 10 ครั้งครับ

คำถาม – แล้วพ่อพันธุ์แบบไหนครับที่คุณใช้จับคู่กับแม่พันธุ์ดังกล่าว

Omosako – ฉันเคยใช้พ่อพันธุ์ 2 ตัวจากซาไก ผมได้ลูกปลาที่มีเปอร์เซ็นต์ความผิดปรกติ(พิการ)มากซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่าผมต้องการพ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดที่ต่างออกไป(ไม่ใกล้เคียงกัน)จากทาง Niigata มาผสมกัน ผมหาพ่อพันธุ์ใหม่มาได้ 1 ตัว จาก Gosuke ( Gojiro Sato) ซึ่งกลายมาเป็นพ่อพันธุ์ตัวแรกของผม เมื่อผมเริ่มใช้มันผสมกับแม่พันธุ์หลักของผมตัวที่กล่าวมาแล้ว จะมีลูกปลาที่พิการน้อยกว่า

คำถาม – Gosuke of Takezawa หรือครับ (จะกล่าวถึงในช่วงหลังๆในหัวข้อ Marudo )

Omosako – ใช่ครับ

คำถาม – อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณมองหาพ่อพันธุ์ใหม่ครับ ใช่เหตุผลเกี่ยวกับความกลัวในเรื่องการผสมที่มาจากสายเลือดพ่อและแม่เดียวกันหรือไหมครับ

Omosako – ใช่ครับ มันเป็นเพราะสาเหตุนั้นจริงๆครับ สายเลือดมันใกล้กันมากเกินไป และผมเริ่มเพาะกับพ่อพันธุ์ตัวใหม่จาก Niigata ในปี 1983

คำถาม – ถ้าอย่างนั้นมีความเปลี่ยนแปลงใดที่คุณเห็นได้ในลูกปลาที่เกิดจากการผสมกับปลาพ่อพันธุ์ที่ได้จาก Gosuke

Omosako – ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักนอกจากเรื่องของความพิการ ฉันคิดว่าคุณภาพของลูกปลาโตไซที่ได้ค่อนข้างจะเหมือนๆกันกับก่อนหน้านั้น

คำถาม – สีดำมีการเปลี่ยนแปลงบ้างไหมครับ

Omosako – ไม่ครับ ไม่มีเป็นพิเศษ เราก็ยังมีรางวัล kokugyo หลายรางวัลจากพ่อแม่ปลาคู่นี้ ดังนั้นผมจึงยังคงใช่ปลาคู่นี้เพาะปลาต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเลยทีเดียว

คำถาม – คุณประสบความสำเร็จกับพ่อแม่ปลาคู่นี้ใช่ไหม

Omosako – ใช่ครับ ผมเชื่อว่าลูกๆมันทำได้ 7 รางวัล kokugyo และยังมี best in variety ของงาน ZNA All Japan ด้วยครับ

คำถาม – เป็นคำถามต่อเนื่องนะครับว่าจะมีแนวโน้มใดเป็นพิเศษไหมสำหรับปลาโตไซจากพ่อแม่ปลาคู่นี้ และคุณมีการคัดปลาพวกที่สีขาวหรือสีดำมากจนเกือบทั้งตัวออกไปไหมครับ

Omosako – มันมีหลายอย่างมากครับ บ้างก็ขาวทั้งตัว บ้างก็ดำหนัก บ้างก็เปลี่ยนแปลงอย่างมากหลังจากลงบ่อดิน มีอยู่หนึ่งตัวสามารถชนะรางวัล Young Champion 17th Shinkoukai All Japan ในปี 1985 ซึ่งสีดำของมันตั้งแต่โตไซจนได้รางวัลไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย

คำถาม – คุณประสบความสำเร็จอย่างมากกับพ่อแม่ปลาคู่นี้ ซึ่งสามารถผลิตปลาที่ชนะรางวัลมากมาย อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นพ่อแม่ปลาคู่ jackpot ได้ไหมครับ

Omosako – ผมก็อยากจะกล่าวเช่นนั้นครับ ผมว่าผมไม่เคยได้ยินว่ามีพ่อแม่ปลาคู่ไหนอีกที่ประสบความสำเร็จเท่านี้ ( หัวเราะก๊ากๆ)

คำถาม – Gosuke ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในเรื่องการผลิตชิโร่อุจิริไม่ใช่หรือครับ

Omosako – ใช่ครับ เขาไม่เป็นเช่นนั้นเลย เขาเป็นที่รู้จักในเรื่องการออกไปหาปลาดีๆ พ่อของผมคุ้นเคยกับเขาเป็นอย่างดี ผมขึ้นไปหาเขาเพื่อดูว่าเขาได้อะไรมาและปลาพ่อพันธุ์ตัวนี้ก็เตะตาผม ผมคิดว่ามันเป็นปลาที่ดีและคุ้มค่าที่จะเสี่ยง ดังนั้นผมจึงซื้อมันกลับมา

คำถาม – หมายความว่าเมื่อคุณซื้อมันกลับมามันก็กลายเป็นพ่อพันธุ์หลักของคุณเลยอย่างนั้นหรือ

Omosako – จริงๆแล้ว มันเป็นพ่อพันธุ์ตัวเดียวที่ผมมีครับ ในช่วงเริ่มต้นกิจการผมไม่มีพ่อแม่พันธุ์ปลาอื่นใดเลย และผมก็ยังดึงดันใช้พ่อแม่ปลาคู่นี้ไปอีก 10 ปีทีเดียว

คำถาม – หมายความว่าพ่อแม่ปลาคู่นี้ใช้ใน 10 ปีแรกของฟาร์มหรือครับ

Omosako – ถูกต้องครับ ข้อเท็จจริงคือ มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เบื้องหลังครับ เรื่องที่ว่า คือ แม่ปลาตัวนี้ใช้เวลานานมากๆๆกว่าจะสลัดไข่ออกมาได้ในการผสมแต่ละครั้งครับ มันจะใช้เวลานานบางครั้งเกือบ 2 เดือนหลังจากที่เราเอาพ่อและแม่ปลามาไว้ในบ่อเดียวกัน ดังนั้นทุกคืนเวลา 4 ทุ่ม หลังจากลูกๆผมเข้านอนแล้ว ผมจะนั่งข้างๆบ่อและดูมันทั้งคืน

คำถาม – พูดเป็นเล่นนะครับ ตั้ง 2 เดือน

Omosako – ผมพูดจริงๆครับ ผมหัวเราะได้ครับตอนนี้แต่ตอนนั้นที่ผมต้องอดนอนจนตี 5 เพื่อดูแลมัน เพราะว่าผมไม่มีพ่อแม่ปลาอื่นๆใดอีกพวกมันเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของผมเลยทีเดียว ( หัวเราะก๊ากๆ)

คำถาม – ตอนนั้นลูกๆคุณยังไม่ได้ช่วยคุณใช่ไหมครับ

Omosako – พวกเขายังอยู่อนุบาลและประถมอยู่เลยดังนั้นผมต้องทำด้วยตัวเองคนเดียว และเรื่องการผสมนั้นอย่างน้อยที่สุดก็มี 2 สัปดาห์เธอถึงสลัดไข่ได้ ส่วนที่นานที่สุดน่าจะมีเกิน 2 เดือนได้ ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้วเมื่อไข่เรียบร้อยแล้วผมก็กรอบล้าไปทั้งตัว

คำถาม – 2เดือนเต็มๆ ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ

Omosako – แต่มันก็เป็นไปแล้วไม่ใช่หรือ มันเหมือนนานชั่วกัลปชั่วกัลย์เลยสำหรับเธอที่จะสลัดไข่ออกมา ผมถึงใส่ปลาตัวผู้ลงไปเยอะๆเพื่อกระตุ้นให้เธอไข่เร็วขึ้น และนั้นก็เป็นสาเหตุให้ผมต้องคอยเฝ้าพวกมันเพราะผมต้องรีบตักปลาตัวผู้อื่นๆออกเมื่อเห็นเธอเริ่มสลัดไข่แล้ว ผมต้องใช้เวลาในการตีท้องมัน(ด้วยท่อเล็กๆ)แทนตัวผู้เพื่อกระตุ้นการไข่ทุกๆคืน (ความเห็นผู้แปล- ผมว่ามันโหดไปเปล่าเนี้ย ฮึๆ)




คำถาม – ทุกคืนเลยเหรอครับ

Omosako – ทุกคืน ( หัวเราะก๊ากๆ)

คำถาม – นั่นหมายความว่าคุณใช้วิธีผสมแบบตามธรรมชาติไม่ใช้วิธีผสมเทียม

Omosako – ใช่ครับ

คำถาม – พิจารณาจากอุปสรรคต่างๆที่คุณต้องเจอเพื่อให้มันสลัดไข่ ทำไมคุณไม่ทำผสมเทียมละครับ

Omosako – อืม…การผสมเทียมไม่ค่อยเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ตอนั้นการผสมแบบธรรมชาติยังคงคุ้มกับค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เพาะปลา ผมจึงต้องคอยถือท่อเล็กๆคอยช่วยมัน และผมเองก็ได้ยินเพื่อนผมเล่าให้ฟังถึงฮอร์โมนว่าดี ผมก็ไปเอามาจากสัตวแพทย์ และก็อีกเห็นเขาว่าให้กินหอยทากก็ดีผมก็ลองแบบโน้นนิดนี่หน่อยเท่าที่จะหาได้ นั่นเป็นการใช้เวลาในช่วง 10 ปีแรกของผม( หัวเราะก๊ากๆ)

คำถาม – และคุณทำอย่างนั้นทุกปีเหรอครับ

Omosako – ทุกปีครับ ( หัวเราะก๊ากๆ)

คำถาม – ผมพนันว่าคุณกลัวการมาถึงของฤดูผสมปลา

Omosako – ผมกังวลทุกปีเมื่อมันจะมาถึงแต่นี่เป็นรายได้อย่างเดียวของผมดังนั้นผมไม่มีทางเลือกมีแต่ต้องทำ แน่นอนว่ามันขลุกขลักในช่วง 10 ปีแรกแต่เมื่อลูกโตขึ้นและผมมีปลาในสต๊อกไว้สำหรับเพาะมากขึ้น สิ่งต่างๆก็ไม่ได้ล่อแหลมอย่างที่เคย แต่กระนั้นก็ตามช่วงเวลา 10 ปีแรกที่นั่งทนหนาวในเวลากลางคืนก็เป็นความทรงจำที่ขมอมหวานสำหรับผม

คำถาม – คุณมีใครที่ช่วยคุณเปลี่ยนเวรบ้างไหม

Omosako – ไม่มีครับ ผมต้องอยู่คนเดียว และเราก็ไม่มีเครื่องทำความร้อนเหมือนปัจจุบันนี้ด้วยซิ มันจึงเป็นคืนที่หนาวจริงๆ มีแค่ผมกับคืนอันหนาวเหน็บเท่านั้น

คำถาม – ว้าว…ฟังดูมันต้องทรหดมากเลย

Omosako – ใช่ครับ

คำถาม – ถ้าสมมุติว่าคุณเกิดสูญเสียแม่ปลาในช่วงเวลา 10 ปีแรกไปละครับ มันไม่จบกันเลยเหรอ

Omosako – เป็นไปได้ครับ…ผมถึงต้องทนอยู่ดูมันทุกคืน

คำถาม – เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญมากครับ

Omosako – บางครั้งมันนานจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ( ผมก็เดินหัวทิ่มออกมาจากบ่อผสมเลยทีเดียวพร้อมทั้งคิดในใจว่าในที่สุดก็ผ่านไปอีกหนึ่งฤดูผสม ) แต่สุดท้ายก็พบว่าลูกปลาติดเชื้อตาย ผมไม่รู้จะทำอะไรอีกแล้วได้แค่สั่นหัวเท่านั้น มันท้อใจจนพูดอะไรไม่ออกเลย

คำถาม – ฟังดูหนักจนคนที่แกร่งที่สุดคนหนึ่งเกือบจะถอดใจนะครับ

Omosako – ผมเจอช่วงเวลาที่ลำบากจริงครับในตอนแรก

คำถาม – เมื่อคุณผสมพ่อแม่พันธุ์เสร็จ ผมว่าคุณมีเวลาหลายเดือนเลยที่จะนอนชดเชยนะครับ

Omosako – ผมทำอย่างนั้นแน่นอนครับ นั่นเป็นรายได้ทางเดียวของผมผมจึงต้องเกาะติดสถาณการณ์จนกว่าแม่ปลาจะไข่ คุณนึกภาพไม่ออกหรอกว่าผมโล่งแค่ไหนเมื่อมันจบลง ผมวาดหวังถึงปลาที่จะขายในฤดูใบไม่ร่วงและรายได้งามๆครับ


 *************************************************************************

2 comments:

  1. สุดดดดดยอดดดดดดเลยครับพี่เต่า......

    ReplyDelete
  2. ดีใจที่น้องต้นชอบครับ

    ReplyDelete

TKKG We Care Project 6

ZNA Local Certified Judge

Search This Blog

บทความที่ได้รับความนิยม

Followers

How to follow my blog

My Facebook