Mr. Nuttawut Phowborom ( Shinkokai Certified Judge )

Mr. Nuttawut  Phowborom ( Shinkokai Certified Judge )
 ( คนซ้ายมือ คือ พี่อ้วน-สยามโค่ย และคนขวามือ คือ มาโนซังครับ)
ณัฐวุฒิ เภาโบรมย์
ชื่อเล่น อ้วน หรือที่ในวงการปลาคาร์พเรียกกันว่า อ้วน-สยามโค่ย
สมาชิก สมาคมชินโกไกของญี่ปุ่น และกรรมการตัดสินของสมาคมชินโกไก

 1) จุดเริ่มต้นการเลี้ยงปลาของพี่อ้วน เป็นมาอย่างไรครับ
ผมเริ่มเลี้ยงปลาคาร์พครั้งแรก ตอนเรียนอยู่ชั้น มศ. 5 (ยุคโบราณ ก่อนเปลี่ยนไปเป็นระบบ ม.6) น่าจะประมาณ พ.ศ. 2523 ตอนนั้นคุณพ่อผมกำลังสร้างบ้านหลังใหม่ ผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งสนิทสนมกับคุณพ่อบอกว่า มีที่ว่างน่าจะทำบ่อปลาคาร์พเล็กๆสักบ่อ ตอนนั้นปลาคาร์พยังเป็นเรื่องใหม่มากของเมืองไทย
 คุณอาที่ทำก่อสร้างพาไปดูที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ที่ซอยวัดเทพลีลา ซึ่งทราบว่าเป็นผู้ที่นำปลาคาร์พเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น บ่อสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตรเศษๆ กว้างยาวน่าจะราวๆ 2x8 เมตร จำไม่ได้แล้วว่าเจ้าของบ้านชื่ออะไร แต่ความรู้สึกวันนั้นคือ โอโฮ! ปลาอะไร สวยขนาดนี้

จากนั้นก็ลงมือสร้างบ่อที่บ้าน บ่อแรกขนาด 2x3 เมตร ลึก 50 ซม. ใส่ระบบกรองซึ่งตอนหลังกลับไปดู ปรากฏว่าเป็นยี่ห้อ FOK เป็นชุดกรองแบบชิ้นเดียว เป็นรูปร่างตะเกียงญี่ปุ่นสีดำ ตั้งอยู่ในน้ำ มีฐานเป็นกล่องทรงกลม มีแผ่นเหล็กแบนทรงกลมถ่วงน้ำหนัก ใส่ JFM ม้วนอยู่ข้างใน ตัวปั๊มเป็นมอเตอร์ตัวเล็กอยู่ในเก๋งญี่ปุ่น วางอยู่เหนือน้ำ  มีพัดลมตัวจิ๋วติดอยู่ข้างในเก๋งสำหรับระบายความร้อน ไม่แน่ใจว่าซื้อที่บางกอกฟาร์มแห่งแรกที่พระโขนง หรือซื้อที่อีกร้านหนึ่งที่ย่านพหลฯ ที่หลายปีต่อมาจึงทราบว่าร้านนั้นเคยเป็นของท่านอาจารย์กนก เหวียนระวี

พอบ่อเสร็จก็เริ่มชอปปิ้ง หาปลามาเลี้ยง ตอนนั้นไปที่บางกอกฟาร์มเพราะใหญ่มาก เป็นที่แรกๆของเมืองไทย และมีปลาให้เลือกเยอะ และก็ไปที่บ้านอาจารย์กนกด้วย เพราะตกแต่งสวยเป็นสวนหิน มีปลาว่ายลอดใต้พื้น ตะเวนอยู่บางกอกอยู่นานหลายปี ตั้งแต่ใส่ชุดนักเรียน จนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังบ้าปลาอยู่ เวลาจีบสาว ก็พาสาวๆไปเที่ยวบางกอกฟาร์ม  ผู้หญิงก็เลยเลิกไปหลายคน เพราะเค้าไม่ได้สนุกด้วย

ตอนเรียนปริญญาตรี โชคดีสอบชิงทุนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปเรียนที่ญี่ปุ่น น่าจะเป็นปี 1982 ไปอยู่ที่เมือง Odawara ซึ่งสมัยนั้น คิดว่ายังไม่มีฟาร์ม Odawara ที่มีชื่อเสียงในขณะนี้ แต่ก็ขอร้องให้เพื่อนพาไปเที่ยวฟาร์มปลาแห่งหนึ่ง ใกล้เมือง Nikko ประทับใจสุดๆ โอโฮ ทำไมมันได้ขาวอย่างนี้ แดงอย่างนี้ ไม่เคยเห็นแบบนี้ที่เมืองไทยเลย ถ้วยเต็มฟาร์มไปหมดสุดๆจริงๆ ความรู้สึกตอนนั้น รู้เลยว่า โลกปลาคาร์พอีกใบ มันมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากจริงๆ ยุคนั้น Internet ยังไม่มีมั๊ง

เรียนจบปริญญาตรี ได้ไปทำโครงการแลกเปลี่ยนของ YMCA ที่อเมริกาพักนึง กลับมาทำงานที่กรุงเทพ แล้วย้อนกลับทำปริญญาโท อดเลี้ยงปลาไปช่วงสั้นๆประมาณ 2 ปีกว่าๆ กลับมาสร้างบ้านของตัวเองเป็นหลังแรกที่ราชวัตร เอาล่ะคราวนี้สร้างบ่อปลาขนาด 3x4 เมตร ลึก 1.5 เมตร ติดกับสระว่ายน้ำยาวต่อกัน ซึ่งมีอยู่ครั้งนึงกลับบ้านมาเจอโคฮากุ ว่ายน้ำอยู่ในสระว่ายน้ำช่วยไม่ทัน เด็ดสะมอเร่ซะก่อน บ่อกรองเป็นแบบ Up & Down Flow ใช้ปะการังเป็นวัสดุกรอง บ่อนั้นตอนนี้อายุประมาณ 19 ปีแล้ว พอๆกับอายุลูกชายคนโตของผม ปลาชุดแรกชุดนั้นเป็นปลาจากบางกอกฟาร์มทั้งหมด

ถัดมาอีกหลายปี ได้มีโอกาสรู้จัก Taro Kodama ลูกชายของ Mamoru Kodama ปรมาจารย์ปลาคาร์พชื่อดัง เริ่มซื้อปลาจาก Miyoshiike ฟาร์มของ Mr. Kodama จากการดูรูปโฆษณาในหนังสือ Nichirin ซื้อไว้แล้วก็ฝากไว้ รวบรวมได้สัก 2-3 ตัว ก็บินไปญี่ปุ่น ไปรับกลับ ฟาร์มของ Miyoshiike เมื่อก่อนมีอยู่ 2 ที่ คือที่ Chiba ใกล้โตเกียวและสนามบินนาริตะ และอีกที่อยู่ที่ Aichi เมืองของ Toyota ที่เดียวกับฟาร์มของ Ryuki Narita ตอนนี้
 ช่วงนั้นเริ่มบ้าศึกษาเรื่องเทคนิคการเลี้ยง หาวิธีปรับปรุงคุณภาพน้ำ ปรับเรื่องค่า pH ความกระด้างของน้ำต่างๆ สั่งอาหารเข้ามาใช้เอง และพวกอาหารเสริมต่างๆ

ความที่ชอบปลาคาร์พมากๆ ก็มีเพื่อนฝูงแวะเวียนมาดูปลาที่บ้าน มีคนมาขอให้ช่วยซื้อจากญี่ปุ่นให้บ้าง ก็แบ่งๆกันไปให้เพื่อนๆ และก็ค่อยๆซื้อปลาใหม่มาเพิ่มเติม ต่อมาประมาณ 15 ปีที่แล้ว ย้ายงานประจำมาอยู่ที่กลุ่ม KPN ที่ทำงานอยู่จนทุกวันนี้ ในกลุ่มมีบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นเยอะ ก็เลยได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นบ่อย และครั้งหนึ่งก็ได้ขอไปเที่ยว Niigata แดนสวรรค์ของคนรักปลาคาร์พในทริปซื้อปลาของ Miyoshiike (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Kodama Koi Farm) ได้ดู Kodama San 2 พ่อลูกคัดปลา ซื้อปลาครั้งละหลายๆพันตัว โอ้ มาย ก๊อด อะไรมันจะสนุก มีความสุขขนาดนั้น เที่ยวนั้นได้ปลาสวยๆมาหลายตัวมาก เพื่อนฝูงที่รออยู่กรุงเทพ แฮปปี้สุดๆ แบ่งกันไม่กี่คนก็หมด ก็เลยไปญี่ปุ่นอีก สั่งปลาจากรูปใน Nichirin บ้าง เริ่มเปิดหูเปิดตาว่าที่ญี่ปุ่นยังมีของที่เราไม่เคยเห็นอีกมากมาย  ซึ่งยุคก่อนเมืองไทยมีแต่การแยกว่า ปลาใน (เกิดในประเทศ) กับปลานอก (ปลานำเข้าจากญี่ปุ่น) ซึ่งบอกว่า มาจากเมือง Niigata แต่ยังไม่ใครพูดว่า มาจากฟาร์มไหน ซึ่งที่ญี่ปุ่น เค๊าจะรู้เลยว่าฟาร์มไหน ถนัดทำปลาอะไร

ระหว่างท่องญี่ปุ่นก็คอยถาม Kodama San ตลอด เหมือนเด็ก 4 ขวบ จน Kodama รู้สึกว่า เอ๊ะ ไอ้นี่ ถ้าจะบ้าจริง! Kodama San เวลาพาไปซื้อปลาที่ Niigata ก็จะสอนว่า วิธีดูปลา ดูยังไง เลือกยังไง ความสำคัญของรูปร่าง และคุณภาพนั้นสำคัญขนาดไหน เพราะอะไร ลวดลายแบบไหนเป็นที่นิยม ฟาร์มแต่ละฟาร์ม เก่งไม่เหมือนกัน แต่ละฟาร์มมีความถนัดคนละอย่าง  แม้แต่แต่ละบริเวณหรือพื้นที่มีความเหมาะสมกับปลาต่างชนิดกัน เวลาคัดปลาจากแต่ละฟาร์มเสร็จ ก็จะมานั่งดื่มชาเขียว หรือบางทีก็ดื่มเบียร์กับ Breeder หรือผู้เพาะพันธุ์ ซึ่งแต่ละคนก็เปรียบเสมือนศิลปิน ที่สร้างสรรผลงานชิ้นสำคัญของตัวเอง แต่ละคนมีชีวประวัติ สายพันธุ์ที่พัฒนาสืบต่อกันมาเป็นรุ่นต่อรุ่น

Kodama San บอกว่า ผมชอบปลาคาร์พมาก หากเปิดฟาร์มปลาคาร์พเอง ผมจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆของปลาคาร์พอีกมาก และจะมีประสพการณ์มากขึ้น และ Kodama San จะช่วยเหลือผม ตอนแรกผมยังไม่แน่ใจว่าจะมีเวลาทำธุรกิจนี้ได้หรือไม่ ใจน่ะอยากอยู่แล้ว แต่หลายๆอย่างยังไม่พร้อม พอดียุคนั้น เริ่มมี Internet เกิดขึ้น จึงคิดเริ่มทำเป็นแบบร้าน On-line ขึ้นก่อน ชื่อว่า siamkoi.com แล้วใช้วิธีบอกต่อๆกันไปปากต่อปากจากคนที่เคยมา ผมนำปลาเข้ามาครั้งแรกๆประมาณ ครั้งละ 50 ตัว คัดพิเศษประมาณจากฟาร์มละ 10 ตัว มาเท่าไหร่ก็หมด ก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนทีละนิด และถ่ายรูปเอง โพสต์รูปเอง จ้างเด็กมาเขียนโปรแกรมให้ ตักปลาเอง แพ็คปลาเองอยู่กับเด็กที่บ้าน


Kodama บอกว่าพร้อมแล้วล่ะ ลุยเลย ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดฟาร์ม Siamkoi ขึ้นครั้งแรกที่ซอยวิภาวดีรังสิต 22 (ลาดพร้าว 8) ติดกับโรงเรียน เซ็นต์จอห์น ได้เพื่อนฝูงและลูกค้าเก่าๆยุค Internet มาช่วยกรุณาสนับสนุน งบประมาณก็มีไม่มาก ก็ไปขอให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกช่วยออกไอเดียเรื่องการออกแบบสถานที่และบ่อโดยรวม แต่ผมเป็นคนออกแบบระบบกรองตอนนั้นได้ศึกษาเรื่องระบบกรองจากหนังสือหลายเล่ม และจากเว็บไซท์ต่างๆ ก็เห็นว่า ในโลกนี้มันยังมีระบบกรองที่ใหม่ๆ ดีๆ อีกมากมายหลายแบบ หลายทฤษฎีมากกว่า Up & Down Flow แบบเดิมๆ ยังมีวัสดุกรองแปลกๆ มีการวางรูปแบบบ่อแบบอื่นๆ ก็เลยคิดว่า เอาที่สยามโค่ยนี่แหละเป็นห้องทดลอง สร้างบ่อปลาและบ่อกรองแบบต่างๆซะเลย เป็นที่มาของคำว่า "จะเลี้ยงปลาให้หัดเลี้ยงน้ำก่อน" เพราะผมเชื่อว่าจะเลี้ยงปลาให้ดี ต้องมีทั้งเลือกปลาได้ดี และมีเทคนิคการเลี้ยงที่ดีด้วย

ตอนเริ่มแรกที่สยามโค่ยมีบ่อปลา 8 บ่อ ก่อนที่จะสร้างบ่อกักโรคอีก 3 บ่อภายหลัง เป็นบ่อขนาด 3x5 เมตร 4 บ่อ ผมชอบแนวความคิดของ Peter Waddington เรื่องถังกรองถังแรกแบบ Vortex เป็นถังดักตะกอน และผมดัดแปลงให้ถังกรองต่อๆมาเป็นเป็น Upward Flow เป็นช่องสี่เหลี่ยมตามแบบดั้งเดิม ผมตั้งชื่อเรียกของผมเองว่า เป็นระบบกรองแบบ Semi-Vortex ซึ่งต่อมาก็มีใครหลายๆคนเอาไปเรียกต่อผิดๆตามผม
 ซึ่งจริงๆควรเรียกว่า แบบ Primary Vortex หรือ Settlement Vortex ก่อนสร้างระบบกรองแบบนี้ที่สยามโค่ย ผมได้ทดลองสร้างระบบนี้ให้ที่บ้านเพื่อนมาแล้ว จึงมั่นใจว่าจะต้องได้ผล เมื่อก่อนแทบทุกวัน จะมีคนมาขอเปิดดูระบบกรองที่ฟาร์ม และเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของผมที่เป็นคนเริ่มนำระบบ Vortex มาใช้ และตอนนี้เป็นที่แพร่หลายมากในเมืองไทย



บ่อที่ 5 เป็นบ่อที่เอาแบบมาจาก Onichi Tottori Methods ซึ่งเป็นบ่อที่ให้น้ำไหลทิศทางเดียวในบ่อปลา และมีโสลปค่อนข้างชัน ว่ากันว่าเลี้ยงปลาตัวผู้ได้หุ่นดี บ่อนี้ยาว 7 เมตรไม่รวมบ่อกรอง ชุดกรองทำแบบลูกผสม Semi-Vortex กับแบบต้นตำหรับ Onichi Tottori ที่ดึงน้ำจากกลางน้ำ แทนที่จะเอาน้ำจากสะดือบ่อ

บ่อที่ 6,7,8 เป็นบ่อที่ใช้ถัง Vortex ล้วนๆทั้งหมด ไม่มี Upward Flow แบบเดิมแล้ว แต่ บ่อ 6 ตั้งใจทำเป็นบ่อทรง Free Form ที่เป็นแบบ Rock Pond เพราะได้หินแม่น้ำโขงมาชุดนึงจากผู้ใหญ่ที่นับถือกัน และมีสะพานสีแดงเดินข้ามบ่อ ก่อนที่จะข้ามไปยังบริเวณบ่อใหญ่ อีก 2 บ่อข้างบน บ่อกรองชุดนี้ดึงน้ำจากถังกรองสุดท้าย ไปฉีดเป็นน้ำพุเล็กๆหน้าฟาร์ม เพื่อเหตุผลเรื่องฮวงจุ้ยและทำกระบะให้น้ำไหลผ่านเป็นทางยาวแบบ Horizontal Flow แบบคล้ายๆกับระบบ ERIC หรือ Endless River ที่ Peter Waddington คนเขียนหนังสือ Koi Kichi เป็นคนออกแบบ แต่ผมเสริมด้วยต้นเตยน้ำ จำนวนมาก เพื่อพิสูจน์ทฤษฎี Plant Filtration ว่าได้ผลไม๊


บ่อ 7 หน้าสำนักงานเป็นบ่อที่มีปริมาตรน้ำในบ่อ 100 ตัน ยุคก่อนบ่อใหญ่ๆมีน้อย กะว่าเอาไว้เลี้ยงปลาใหญ่และปลาส่วนตัว ชุดกรองมี 3 ชุดๆละ 4 ถัง Vortex มีอยู่ช่วงนึงสั่งระบบกรอง The Answer จากอังกฤษมาใช้ ปรากฏว่าตอนหลังต้องถอดออก หมดไปหลายสตางค์ ได้ผลดีนะ แต่ดูแลยากกว่าที่คิด ส่วนบ่อ 8 บ่อสุดท้ายขนาด 4x6 เอาไว้เก็บปลาขนาดกลาง

เสียดายวันนี้สยามโค่ยที่ วิภาวดีรังสิต 22 ต้องปิดไป คงเหลือแต่ที่คลอง 6 ยังเสียใจอยู่จนทุกวันนี้ แต่หวังว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น วันหนึ่งผมจะเปิดใหม่อีกครั้ง

2) พี่รู้สึกอย่างไรกับการเป็นกรรมการงานประกวดระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น และพี่อยากแบ่งปันอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้น้องๆได้ทราบบ้างครับ

ผมเป็นสมาชิกของสมาคมชินโกไก มานานกว่า 10 ปี จากการแนะนำให้เข้าไปโดย Kodama San และ Isa San และทุกวันนี้ผมก็ยังไปซื้อปลาคาร์พที่นิกาตะอยู่อย่างสม่ำเสมอมาตลอด จนเปรียบเสมือนบ้านอีกแห่งของผม เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และเป็นการพักร้อนประจำปีของผมจากงานประจำ ผมได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดในงานชินโกไก หรือ All Japan Nishikigoi Show 3 ครั้งที่กรุงโตเกียว
 และได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานของ Thailand Koi Club ที่ประกอบด้วยฟาร์มที่เป็นสมาชิกของสมาคมชินโกไกของญี่ปุ่น ผมเป็นผู้จัด และเป็นกรรมการในการตัดสินการประกวดปลาคาร์พในประเทศไทยหลายครั้ง รวมทั้งได้จัดการอบรมสัมนาเกี่ยวกับปลาคาร์พหลายต่อหลายครั้ง

สิ่งที่ผมอยากเห็นในวงการปลาคาร์พบ้านเราก็คือ นักเลี้ยงชาวไทยเข้าใจ และมีความรู้เรื่องปลาคาร์พมากขึ้น และปรับปรุงเรื่องเทคนิคการเลี้ยงให้มากๆยิ่งขึ้น ปลาที่ดี หากไม่ถูกดูแลให้ดี ถ้าไม่ตายซะก่อน ก็อาจไม่สามารถรีดเอาความสวยงามที่สุดออกมาให้ชื่นชมได้ ถ้าเข้าใจมากขึ้นจะได้เลี้ยงปลาอย่างมีความสุขมากขึ้น

3) พี่อ้วนคิดว่าการตัดสินของ Shinkokai ต่างกับ ZNA ไหมครับ
    ผมคิดว่าทั้ง Shinkokai และ  ZNA นั้นใช้หลักการเดียวกันในการตัดสินปลา เหมือนกับมีกฎหมายฉบับเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันในทางปฏิบัติ เนื่องจากฝั่ง Shinkokai มองจากมุมของผู้เพาะปลา ส่วน ZNA มองจากมุมของผู้เลี้ยงปลา ดังนั้นเมื่อถึงเวลาตัดสินในงานประกวดจึงไม่แปลกที่ทาง Shinkokai จะเห็นคุณค่าของความยากในการสร้างสรรค์ปลาตัวนั้นๆขึ้นมาด้วยซึ่งในมุมนี้ทาง ZNA อาจจะไม่ให้ความสำคัญก็เป็นได้ จะว่าไปแล้วในการตัดสินนั้นรางวัลที่ตัดสินง่ายกลับเป็นรางวัลที่1 (ชนะเลิศ) เพราะส่วนใหญ่จะมีปลาตัวใดตัวหนึ่งที่มีความโดดเด่นกว่าตัวอื่นๆเสมอครับ แต่ความยากกลับมาเป็นการตัดสินรางวัลที่ 2 และที่3 ต่างหาก เพราะปลาจะมีตำหนิให้พิจารณามากกว่าครับ
    ในเรื่องของรสนิยมส่วนตัวของกรรมการก็อาจจะมีผลบางในบางครั้ง แต่ก็ไม่ใช่การเลือกปลาที่ไร้คุณภาพมารับรางวัลแน่นอนครับ เช่นการหารางวัล Kokugyo นั้นก็มีบางครั้งที่กรรมการชอบปลาโชว่ามากกว่าปลาโคฮากุครับ ไม่แปลก และไม่ผิดแน่นอนเพราะปลาที่เข้ามาเป็น Candidate รางวัลนี้ได้ ก็ไม่ธรรมดาอยู่แล้วครับ

4) ปลาตัวโปรดที่พี่ชื่นชอบและอยู่ในดวงใจของพี่ คือ….
ปลาคาร์พที่ชอบเป็นการส่วนตัวมากที่สุดก็คือ โคฮากุ เพราะผมเริ่มต้นที่โคฮากุ และก็ยังชื่นชอบโคฮากุอยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง ตอนนี้กำลังวุ่นวายกับการสร้างบ่อปลาบ่อใหม่ที่บ้าน ทำมานานมากๆก็ยังไม่เสร็จสักที เพื่อนๆตั้งชื่อล้อผมว่า เป็นบ่อร้อยปี
 ( ปลาของพี่อ้วนที่ได้รับรางวัลในงาน Shikokai All Japan ครั้งที่ 40 ครับ)
***************************
และปลาในดวงใจตลอดการของพี่อ้วน-สยามโค่ย เราก็ คือ...........
            ตลอดชีวิตการเลี้ยงปลาคาร์พ ได้พบเห็นปลาหลายๆตัว มีปลาสวยๆที่ชอบมากมาย แต่มีปลาตัวหนึ่งที่รู้สึกประทับใจ คือ Taisho Sanke จากฟาร์ม Isawa Nishikigoi Center หรือที่เรียกกันว่า Matsunosuke (แต่ตัวนี้มาจาก Toshio Sakai ผู้น้อง ไม่ใช่จาก Yamamatsu) เจ้าของดั้งเดิมคือ Ryu Kamiya อดีตประธาน ZNA ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าจำไม่ผิดปลาตัวนี้ชนะรางวัล Grand Champion ในรายการ ZNA เมื่อกว่า10 ปีมาแล้ว

ปลาซันเก้ตัวนี้ เป็นปลาที่ใช้เวลาในการพัฒนานาน นานมากจน Kamiya San แทบจะถอดใจหลายครั้ง เพราะใช้เวลานานกว่าจะฟินนิช และนานมากกว่าที่จะสามารถเพิ่มวอลู่มของลำตัวขึ้นได้ เป็นปลาที่เรียกว่าเป็น Matsunosuke แบบแท้ๆ เพราะมีลักษณะที่เริ่มโตออกทางยาวก่อน และค่อยๆล่ำขึ้นในภายหลัง เป็นปลาที่มีลวดลายสวยงาม และมีคุณภาพสีดีเยี่ยม ผมชอบจุดแดง 3 จุดบนหัว

 ( Grand Champion of 34th ZNA All Japan )

ชอบที่การวางตำแหน่งดำมีลักษณะน่าสนใจ ผมชอบปลาคาร์พที่รูปร่างอวบสวยแบบธรรมชาติแบบนี้ ที่ไม่ใช่อ้วนจนตัวแทบปริออกเหมือนหมอนข้างที่ยัดนุ่นไว้มากเกินไป หรือเหมือนหมูว่ายน้ำ ผมว่ามันดูแล้วอึดอัด แต่ต้องถือว่าปลาซันเก้ตัวนี้เป็นบอดี้แบบเก่าไปแล้ว เพราะยุคปัจจุบัน การประกวดเน้นความใหญ่ความล่ำกันมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้บางครั้งปลาคุณภาพหลายตัวถูกความใหญ่เบียดตกเวทีประกวดไป

หลังจาก Kamiya San เสียชีวิตไป Bill Oakley ขาใหญ่ เจ้าของสถิติ ชนะเลิศ Grand Champion รายการ BKKS (อังกฤษ) มากกว่าใครๆในประวัติศาสตร์ ติดต่อขอซื้อผ่าน Peter Waddington เอาไปเลี้ยงต่อที่อังกฤษ และเปลี่ยนชื้อใหม่ว่า Nellie แต่ด้วยการเดินทางที่ยาวไกล ปลาอยู่ในสภาพบอบช้ำมาก และไปชนะได้เพียงรางวัล Superior Champion โดยไปแพ้ Matsunosuke อีกตัวของ Bill Oakley นั่นเอง
*****************************************************

4 comments:

  1. เป็นบทความที่ดีมาก เรื่องหนึ่งครับเต่า
    ส่วนตัวแล้ว เราก็ชื่นชมพี่อ้วนอยู่ก่อนแล้ว
    ยิ่งได้อ่านบทความเรื่องนี้ทำให้รู้จักพี่อ้วนมากยิ่งขึ้น
    แนะนำให้เต่าทำบทความแบบนี้กับ พี่โฟล์ค พี่เอ็ม พี่ยศ พี่หนึ่ง และพี่ตาว
    เพราะพี่ๆเหล่านี้เป็นพี่ที่เราชื่นชมเป็นการส่วนตัวครับ

    ReplyDelete
  2. เห็นด้วยครับ เอก
    ผมจะพยายามครับ แต่ไม่รู้พี่ๆที่เอกกล่าวถึงจะให้โอกาสผมหรือเปล่าครับ

    ReplyDelete
  3. เออ...ดีจังเต่า
    มีภาพปลาของพี่อ้วนมาให้ดูด้วย

    ReplyDelete
  4. พี่อ้วน ให้ความอนุเคาระห์นะ เอก
    และก็ต้องขอบคุณพี่เจนด้วย ที่ช่วยเราหาภาพนะ

    ReplyDelete

TKKG We Care Project 6

ZNA Local Certified Judge

Search This Blog

บทความที่ได้รับความนิยม

Followers

How to follow my blog

My Facebook